การนอนกรนไม่ใช่แค่ปัญหากวนใจของคนรอบข้างเท่านั้น แต่ยังเป็น “สัญญาณเตือน” ถึงภาวะอันตรายที่ซ่อนอยู่ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันสูง และการเสียชีวิตขณะนอนหลับได้
ล่าสุดในวิดีโอสัมภาษณ์โดยคุณซีมง ที่ได้เชิญคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนจาก VitalSleep Clinic มาให้ความรู้แบบเข้าใจง่าย มาอธิบายถึง 7 วิธีรักษาอาการนอนกรน ที่ได้ผลจริงปลอดภัย วิธีการรักษาทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด สรุปมาไว้ที่นี่แล้ว
ก่อนรักษา ต้องเริ่มจากการ “ตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)”
คุณหมอย้ำว่าก่อนจะรักษาอาการนอนกรน ต้องเข้ารับการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นการนอนกรนแบบธรรมดาหรือมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย
เมื่อได้ผลตรวจการนอนหลับแล้ว แพทย์เฉพาะทางจะอ่านผล เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ก่อนเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม
7 วิธีรักษานอนกรน จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
1. CPAP (Continuous Positive Airway Pressure)
เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก เป็นมาตรฐานในการรักษาอาการนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea)
หลักการทำงาน CPAP จะพ่นลมอย่างต่อเนื่องผ่านหน้ากากครอบจมูกหรือทั้งจมูกและปาก เพื่อให้ทางเดินหายใจไม่ให้ฟีบในขณะที่กำลังหลับ ช่วยลดการสั่นของเพดานปากและการอุดกั้นที่ทำให้เกิดเสียงกรนหรือหยุดหายใจ
ข้อดี
- รักษานอนกรนตั้งแต่ระดับปานกลางถึงรุนแรงได้ผลดี
- ลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ ความดันสูง หลอดเลือดสมอง
เหมาะกับใคร
คนที่มีอาการกรนระดับเบาถึงปานกลาง หรือคนที่มี OSA
2. Oral Appliance (โปรแกรมทันตกรรมรักษานอนกรน)
เครื่องมือทันตกรรมที่ออกแบบเฉพาะบุคคล ใส่ในปากขณะนอนหลับ
หลักการทำงาน ดันขากรรไกรล่างไปด้านหน้า ช่วยเปิดพื้นที่ด้านหลังลิ้น ลดการอุดกั้นทางเดินหายใจ
ข้อดี
- พกพาสะดวก ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า
- ใช้งานง่าย น้ำหนักเบา เหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางบ่อย
- เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ใช้ CPAP แล้วไม่ประสบความสำเร็จ
เหมาะกับใคร
คนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับรุนแรง หรือมีโรคร่วมที่ต้องการควบคุมอาการให้แน่นอน
3. Myofunctional Therapy (กายภาพกล้ามเนื้อช่องปากและใบหน้า)
การบำบัดกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหายใจและการกลืน
หลักการทำงาน ฝึกกล้ามเนื้อลิ้น ริมฝีปาก เพดานอ่อน และใบหน้า เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและการควบคุมให้กับกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง
ข้อดี
- เป็นการรักษาแบบไม่ใช้เครื่อง ไม่ผ่าตัด
- เสริมประสิทธิภาพการใช้ Oral Appliance หรือหลังผ่าตัด
- ป้องกันไม่ให้โรครุนแรงขึ้นในอนาคต
เหมาะกับใคร
เด็กที่มีปัญหาหายใจทางปาก มีโครงสร้างใบหน้าผิดปกติ และผู้ใหญ่ที่เริ่มมีภาวะกรนหรือมีภาวะหย่อนคล้อยของกล้ามเนื้อจากอายุ
4. Radio Frequency (RF) คลื่นความถี่วิทยุ
เทคโนโลยีที่ใช้พลังงานความร้อนควบคุมระดับในการกระตุ้นเนื้อเยื่อให้หดตัว
หลักการทำงาน กระตุ้นให้เพดานอ่อนและโคนลิ้นหดตัว เพิ่มความกระชับของเนื้อเยื่อ ลดการสั่นของเนื้อเยื่อขณะนอนหลับ
ข้อดี
- ใช้เวลาทำไม่นาน ฟื้นตัวเร็ว
- รักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด
- ใช้ร่วมกับ Oral Appliance หรือ CPAP เพื่อเสริมประสิทธิภาพ
เหมาะกับใคร
คนที่มีปัญหาเพดานอ่อนหย่อน พลิ้ว สั่นง่าย และมีนอนกรนไม่รุนแรง
5. การผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นโพรงจมูกคด (Septoplasty)
จัดแนวผนังกั้นจมูกให้ตรง เปิดทางเดินหายใจ
หลักการทำงาน ผ่าตัดปรับโครงสร้างจมูกที่คดหรือมีเนื้องอกกีดขวาง เพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น
ข้อดี
- เพิ่มประสิทธิภาพของ CPAP และการหายใจทางจมูก
- แก้ปัญหาการนอนอ้าปากจากการหายใจทางปาก
เหมาะกับใคร
คนที่มีโพรงจมูกตีบ จมูกคด หรือมีปัญหาหายใจทางจมูกลำบากเรื้อรัง
6. การผ่าตัดเพดานอ่อน
ผ่าตัดเปิดทางเดินหายใจบริเวณเพดานอ่อน
หลักการทำงาน ตัดหรือเย็บยกเพดานอ่อนให้กระชับขึ้น และเปิดช่องทางให้ลมหายใจผ่านสะดวก
ข้อดี
- ช่วยลดเสียงกรน
- เหมาะกับคนที่มีโครงสร้างเพดานอ่อนหย่อนอย่างชัดเจน
เหมาะกับใคร
คนที่แพทย์ตรวจพบว่าเกิดการอุดกั้นจากเพดานอ่อนเป็นหลัก
7. การผ่าตัดขากรรไกร (Maxillomandibular Advancement หรือ MMA)
ผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรบน ล่าง และคางไปด้านหน้า
หลักการทำงาน ขยายพื้นที่ทางเดินหายใจส่วนบน เพิ่มความตึงของกล้ามเนื้อโดยรอบ ช่วยป้องกันการยุบตัวของทางเดินหายใจขณะหลับ
ข้อดี
- เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะคนที่มีโครงสร้างใบหน้าผิดปกติ
- ให้ผลลัพธ์ของการรักษาที่ยั่งยืน
เหมาะกับใคร
คนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อวิธีรักษาอื่น ๆ รวมถึงคนที่มีโครงสร้างใบหน้าร่นเล็กผิดปกติ
สรุป
ปัญหานอนกรนไม่ใช่แค่เสียงรบกวน แต่เป็นสัญญาณเตือนสุขภาพที่อาจซ่อนโรคอันตรายไว้เบื้องหลัง เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อารมณ์แปรปรวน ไปจนถึงสมรรถภาพทางเพศถดถอย
7 วิธีรักษานอนกรน ที่ VitalSleep Clinic แนะนำ เป็นการดูแลแบบองค์รวม โดยแพทย์เฉพาะทางและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการนอนหลับ ที่จะประเมินจากโครงสร้างทางเดินหายใจ พฤติกรรมการนอน ไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงผลตรวจการนอนหลับ Sleep Test เพื่อออกแบบการรักษาที่เหมาะกับแต่ละบุคคล